วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ไกรลาส-ไกลาส ( ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ )



          ไกรลาส หรือไกลาส เป็นชื่อยอดเขาอันเป็นที่สถิตของพระอิศวรหรือพระศิวะในแดนหิมพานต์ตามเทวตำนานในศาสนาฮินดู และยังเป็นชื่อยอดเขาในประเทศทิเบต ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาไกรลาส เทือกเขานี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทิเบต ขนานกับเทือกเขาหิมาลัย ชาวทิเบตที่นับถือพระพุทธศาสนาเรียกเขาไกรลาสว่า เขาพระสุเมรุ ดังนั้น เขาพระสุเมรุจึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของเขาไกรลาส ตามคติพุทธเชื่อกันว่า เขาพระสุเมรุเป็นภูเขาซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางจักรวาลจึงถือเป็นเสาหลักของโลก มียอดเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์

          ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เล่าไว้ว่า เขาพระสุเมรุเอนทรุดลง ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อรามสูรสู้รบกับพระอรชุน สังหารอรชุนโดยจับ ๒ ขาของพระอรชุนฟาดเขาพระสุเมรุ ทำให้เขาเอียงทรุด และเขาไกรลาสถูกทำให้เอียงครั้งที่ ๒ โดยวิรูฬหกซึ่งเป็นพญารากษส อยู่เมืองบาดาล ซึ่งไปเฝ้าพระอิศวรปีละ ๗ ครั้งเสมอ ครั้งหนึ่งเมื่อถึงกำหนดเข้าเฝ้า วิรูฬหกก็ขึ้นไปสู่เขาไกรลาส เนื่องจากคิดว่าพระอิศวรกำลังประทับให้เทวดาเฝ้าอยู่ จึงถวายบังคมพระอิศวรทุกขั้นบันได ตุ๊กแกตัวหนึ่งอาศัยอยู่บนยอดเขา เห็นยักษ์กราบทุกขั้นบันใดก็ร้อง "ตุ๊กแก" พร้อมทั้งผงกหัวขึ้นลงเป็นเชิงเยาะเย้ยทุกที่ที่ยักษ์กราบ วิรูฬหกเห็นตุ๊กแกล้อเลียนตนก็โกรธ เมื่อชะเง้อดูบนยอดเขาไม่เห็นพระอิศวรประทับอยู่ จึงถอดสังวาลนาคขว้างถูกตุ๊กแกตาย เขาไกรลาสจึงเอียงทรุดลงไปเพราะแรงขว้าง


          คำว่า เมรุ ก็แปลว่า ภูเขา สุ แปลว่า ดีงาม ดังนั้น สุเมรุน่าจะหมายถึงเขาไกรลาสนั่นเอง ปัจจุบัน เขาไกรลาส หรือเขาพระสุเมรุในประเทศทิเบต เป็นที่แสวงบุญของทั้งชาวฮินดูและชาวพุทธ ที่เชิงเขาไกรลาสมีทะเลสาบใหญ่ชื่อ มนัสโรวาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ในฤดูหนาวเขาไกรลาสจะปกคลุมด้วยหิมะ จึงมีสีเงินยวงเหมือนคำบรรยายในวรรณคดี แสดงให้เห็นว่า มนุษย์อาศัยธรรมชาติช่วยจินตนาการว่าสวรรค์จะต้องอยู่สูงและงดงามดุจเขาไกรลาส.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น