วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

จัน จันทน์ และจันทร์ ( ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ )



          คำว่า จัน จันทน์ และ จันทร์ เป็นคำพ้องเสียงที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีความหมายต่างกัน ดังนี้

          จัน เป็นชื่อไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ในวงศ์ Ebenaceae ผลสุกมีสีเหลือง หอม กินได้ ถ้าผลกลมแป้น ตรงกลางบุ๋ม ไม่มีเมล็ด เรียกว่า ลูกจันอิน แต่ถ้าผลมีรูปกลมรี และมีเมล็ด เรียกว่า ลูกจันโอ แต่ จันทน์ เป็นชื่อของพรรณไม้บางชนิดที่มีเนื้อไม้ ดอก หรือผลหอม ใช้ทํายาและปรุงเครื่องหอม ส่วนคำว่า จันทร์ มีความหมายหลายอย่าง เช่น ดวงเดือน หรือชื่อดาวพระเคราะห์ที่ ๒ ในตำราโหราศาสตร์ หรือชื่อวันที่ ๒ ของสัปดาห์ เมื่อนำคำทั้ง ๓ คำไปผสมกับคำอื่นเกิดเป็นคำใหม่ขึ้นมา ทำให้มีความหมายเฉพาะในเรื่องนั้น ๆ รวมทั้งมีความหมายเป็นชื่อของพรรณไม้ด้วย และเนื่องจากยังมีผู้เขียนชื่อพรรณไม้ที่มีคำว่า จัน จันทน์ และ จันทร์ นำหน้าไม่ถูกต้อง ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างชื่อพรรณไม้ดังกล่าวซึ่งคณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืชได้จัดทำคำอธิบายไว้แล้วมาเสนอ ดังนี้

          ชื่อพรรณไม้ที่มีคำว่า จัน นำหน้า เช่น จันขน เป็นไม้พุ่มในวงศ์ Rubiaceae จันเขา จันดง และจันดำ เป็นไม้ต้นในวงศ์ Ebenaceae ชื่อพรรณไม้ที่มีคำว่า จันทน์ นำหน้า เช่น จันทน์ดง เป็นไม้ต้นในวงศ์ Lauraceae จันทน์กะพ้อ เป็นไม้ต้นในวงศ์ Dipterocarpaceae ชื่อพรรณไม้ที่มีคำว่า จันทร์ นำหน้า เช่น จันทร์เชียงดาว เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์Scrophulariaceae จันทร์ทอง เป็นไม้ต้นในวงศ์ Oleaceae


          การเขียนชื่อพรรณไม้ให้ถูกต้อง นอกจากจะต้องทราบว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใด อยู่ในวงศ์ใดแล้ว ยังต้องทราบลักษณะทางพฤกษศาสตร์อื่น ๆ ของพรรณไม้ด้วย เช่น ลักษณะของใบ ดอก ผล เมล็ด ซึ่งสามารถค้นข้อมูลได้จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือหนังสืออนุกรมวิธานพืช ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น